
ฟิลเตอร์(Filter) ถือเป็นอุปกรณ์ในการถ่ายภาพอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับช่างภาพมาเนิ่นนานตังแต่ยุคฟิล์มสมัยก่อนมาจนยุคดิจิตอลในปัจจุบัน เวลาที่เนิ่นนานทำให้ฟิลเตอร์ถูกทำขึ้นมาหลายแบบมากโดยจะมีทั้งแบบกลมและแผ่นสี่เหลี่ยม แบบที่นิยมใช้กันคือแบบกลมซึ่งใช้ติดไว้บริเวณหน้าเลนส์แต่จะติดเพื่ออะไรขึ้นอยู่กับชนิดของฟิลเตอร์นั้นๆ ซึ่งผมขอแบ่งประเภทของฟิลเตอร์ออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆคือ
- ฟิลเตอร์สำหรับป้องกันหน้าเลนส์ เช่น UV Filter, Protector Filter
- ฟิลเตอร์ที่ให้ผลพิเศษ เช่น CPL Filter, ND Filter, Star Effect,...
ฟิลเตอร์สำหรับป้องกันหน้าเลนส์
ฟิลเตอร์ที่ใช้ป้องกันหน้าเลนส์เป็นประเภทที่แนะนำให้ใส่ติดหน้าเลนส์เอาไว้ตลอดชนิดที่ว่าตั้งแต่แกะกล่องออกมาได้เลยยิ่งดีเพราะมันช่วยปกป้องหน้าเลนส์เอาไว้ไม่ให้ได้รับอันตราย หากเราทำหน้าเลนส์กระแทกฟิลเตอร์แตกเราก็แค่เปลี่ยนฟิลเตอร์อาจราคา 300-1,000 บาทซึ่งถูกกว่าการเปลี่ยนเลนส์ชิ้นหน้าแน่นอน รวมถึงในการใช้งานปกติเลนส์จะต้องเจอละอองน้ำและฝุ่นต่างๆ การเช็ดทำความสะอาดหน้าเลนส์จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงระดับหนึ่งแต่จะง่ายกว่าไหมถ้าเราแค่เช็ดฟิลเตอร์แทนซึ่งไม่ต้องใช้ความระมัดระวังอะไรมากนัก
การเลือกซื้อฟิลเตอร์สำหรับป้องกันหน้าเลนส์
ฟิลเตอร์สำหรับป้องกันหน้าเลนส์หลักๆจะมี 2 แบบด้วยกันคือ UV Filter และ Protector Filter ทั้งสองนี้คล้ายกันมากคือใช้เพื่อการป้องกันหน้าเลนส์ต่างกันตรงที่ UV Filter จะมีการป้องกันแสง UV ด้วย โดยทั้ง UV Filter และ Protector Filter เน้นความใสเพื่อให้แสงผ่านได้มากที่สุด แต่จะให้แสงผ่านได้มากแค่ไหนและป้องกันหน้าเลนส์ได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสเปคที่จะสูงขึ้นไปควบคู่กับราคาของฟิลเตอร์
UV Filter หรือ Protector Filter
เป็นคำถามที่ถกกันไม่รู้จบว่าควรเลือกแบบไหนดี แต่ในปัจจุบันยุคดิจิตอลผมแนะนำให้ทุกคนเลือก Protector Filter ครับด้วยเหตุผลว่า Protector Filter เน้นด้านความใสและการป้องกันเป็นหลัก และปัจจุบันเซนเซอร์กล้องมีตัวกรองแสง IR/UV อยู่แล้วแสง UV จึงแทบไม่มีผลอะไรกับกล้องดิจิตอลเลย ยุคที่ UV Filter นิยมใช้กันคือสมัยฟิล์มเพราะเมื่อแสง UV เข้าไปกระทบฟิล์มภาพที่ได้จะไม่สดใสและเสีย Contrast เขาจึงออกแบบฟิลเตอร์มาช่วยตัดแสง UV ออก
ฟิลเตอร์ที่ให้ผลพิเศษ
ต่อไปนี้คือฟิลเตอร์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ป้องกันหน้าเลนส์เท่านั้นแต่ยังเกิดมาเพื่อให้ผลพิเศาต่างๆเกิดขึ้นกับภาพอีกด้วย ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันฟิลเตอร์เหล่านี้หายกันไปเยอะมากแล้วครับ เพราะเดี๋ยวนี้ในกล้องเองก็ใช้ Software สร้างผลแบบเดียวกันได้เช่น Star Effect Filter หรือ Color Filter สีต่างๆ ปัจจุบันเหลือใช้กันหลักๆแค่ CPL Filter และ ND Filter ซึ่งยังไม่สามารถใช้ Software สร้างผลที่เหมือนกันได้ หรือถึงทำได้ก็ทำยาก ใช้เวลานาน และไม่ได้เหมือนซะทีเดียว
- CPL Filter เป็นฟิลเตอร์ที่จะช่วยตัดแสงโพลาไรซ์(Polarizers)ออก อธิบายอย่างสั้นๆปกติแล้วเมื่อแสงกระทบวัตถุจะเกิดการสะท้อนกระจายออกในทุกทิศทาง แสงสะท้อนเหล่านี้ทำให้สีของวัตถุอ่อนลงไม่อิ่มสดใส การใช้ฟิลเตอร์ CPL ตัดแสงสะท้อนเหล่านี้ออกไปจะทำให้วัตถุมีสีที่อิ่มสดใสมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ท้องฟ้า เพระาท้องฟ้ามีแสงสะท้อนกระจายอยู่มากเมื่อตัดออกจะทำให้ท้องฟ้ามีสีน้ำเงินเข้มขึ้น รวมทั้งเรายังสามารถใช้ฟิลเตอร์ CPL ตัดแสงสะท้อนบนผิวน้ำหรือแสงสะท้อนบนผิววัตถุเงาๆและกระจกได้ด้วย อย่างการถ่ายภาพผ่านกระจกหากเราใช้ CPL จะสามารถตัดเงาตัวเราที่สะท้อนในกระจกออกได้
-
ND Filter ฟิลเตอร์ ND มีหน้าที่หลักเลยคือ ตัดแสง ฟิลเตอร์นี้เปรียบเสมือนแว่นกันแดดมันทำให้แสงผ่านเข้ากล้องน้อยลง เพื่อทำให้เราได้ผลของความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าเช่น การถ่ายภาพน้ำตกให้น้ำไหลยืดเบลอจนดูพริ้วๆเกิดจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า ซึ่งการจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าเป็นระดับ 3-5 วินาทีกลางแดดจัดจำเป็นต้องพึ่งฟิลเตอร์ ND ในการตัดแสงให้เข้ากล้องน้อยลงเพราะหากไม่ใช้แสงจะเข้ากล้องมากเกินไปจนภาพขาวทั้งใบ
ขอบคุณข้อมูลจาก zoomcamera